Last updated: 2 ต.ค. 2567 | 734 จำนวนผู้เข้าชม |
คู่ทีมเมทนักบิดไทยสังกัด ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่งทีม ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างร้อนแรง โดย เดชา ไกรศาสตร์ #2 กระชากคันเร่งรถแข่ง YZF-R6 ทะยานคว้าอันดับ 2 ยืนโพเดี้ยมรุ่น ST600 การแข่งขัน 2016 MFJ SUPERBIKE ALL JAPAN ROAD RACE CHAMPIONSHIP ได้สำเร็จอีกครั้ง ส่วน เฉลิมพล ผลไม้ #65 แม้จะเข้าเป็นอันดับ 4 แต่ก็สะสมคะแนนตลอดทัวร์นาเมนท์ คว้าตำแหน่งรองแชมป์ประจำปีรุ่น ST600 การแข่งขัน 2016 MFJ SUPERBIKE ALL JAPAN ROAD RACE CHAMPIONSHIP ได้เป็นผลสำเร็จ ณ สนาม ซูซูก้า เซอร์กิต ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน ณ สนาม ซูซูก้า เซอร์กิต ผลการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่น รายการ 2016 MFJ SUPERBIKE ALL JAPAN ROAD RACE CHAMPIONSHIP สนามที่ 5 สนามสุดท้ายของการเก็บคะแนนสะสมเพื่อตัดสินตำแหน่งแชมป์ประจำปีนี้ โดย ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่งทีม จากประเทศไทย ส่งนักแข่งลงแข่งในรุ่น ST600 จำนวน 2 คน คือ เดชา ไกรศาตร์ #2 เจ้าของแชมป์ออลเจแปนรุ่นนี้เมื่อปี 2012 และเฉลิมพล ผลไม้ #65 ซึ่งทำคะแนนสะสมอยู่อันดับ2 มีลุ้นคว้าตำแหน่ง แชมป์ออลเจแปน ในปีนี้
ในวันแข่งขันบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยในช่วงเช้าเวลาประมาณ 8.00 น. นายธีระพงษ์ โอภาสกรกุล ผู้อำนวยการทีม เรียกประชุมทีมเพื่อวางแผนสำหรับการแข่งขันจริงที่จะเริ่มในเวลาเที่ยงตรงตามเวลาท้องถิ่นหรือตรงกับ 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งสองนักแข่งได้พูดคุยร่วมกับทีมงานโดยวางแผนที่จะเกาะกลุ่มผู้นำให้ได้ หรือถ้าขึ้นนำก่อนได้จะดีที่สุดเพื่อกดดันนักแข่งเจ้าถิ่น มาเอดะ #5 ที่มีคะแนนสะสมนำสูงสุด จากนั้นหากกดดันได้สำเร็จรอบท้ายๆ ก็จะหาทางแซงขึ้นมาคว้าแชมป์
เมื่อถึงเวลาแข่งขันบรรยากาศเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเนื่องจาก ชาวญี่ปุ่นนิยมรถจักรยานยนต์พิกัด 600 ซีซี. เป็นอย่างมาก ทำให้การแข่งขันรุ่นนี้มีคนตามลุ้นจำนวนมากหลายหมื่นคน ตำแหน่งของการออกสตาร์ท เฉลิมพล ผลไม้ #65 ที่ควอลิฟายอยู่อันดับ 2 ได้สตาร์ทจากแถวหน้าสุดกลางแทร็ก โดยมี มาเอดะ คู่แข่งสำคัญอยู่ซ้ายสุด ส่วนแถวสอง เดชา ไกรศาสตร์ #2 ทำให้เห็นไลน์ของคู่แข่งที่อยู่ด้านหน้า และโค้งแรกเป็นโค้งขวาทำให้เดชาได้เปรียบมาก ทันทีที่สัญญาณไฟปล่อยตัวเริ่มขึ้น เดชา ไกรศาสตร์ #2 ก็ทะยานออกอย่างรวดเร็วสามารถเกาะด้านขวาของแทร็กได้ โดยมี เฉลิมพล ผลไม้ #65 ตีคู่ขนาบข้างกันไป และมาเอดะ #5 พยายามจะเข้ามาอยู่ในกลุ่ม เมื่อถึงโค้งแรก เดชา ไกรศาสตร์ #2 แบนรถเข้าโค้งขึ้นนำก่อนเป็นคันแรก ตามด้วย เฉลิมพล ผลไม้ #65 และ มาเอดะ #5 ตามลำดับ ทำให้การแข่งขันส่อเค้าว่าจะลุ้นกันเหนื่อยแน่นอน เนื่องจาก มาเอดะ #5 เป็นนักแข่งเจ้าถิ่นที่มีสถิติดีมาก แค่รอบจับเวลาควอลิฟายก็สามารถทำลายสถิติของสนามลงได้แล้ว แต่พอเริ่มแข่งไปเพียงแค่ 5 โค้ง จากทั้งหมด 15 โค้ง ระยะทาง 5.8 กิโลเมตรของสนาม ซึ่งเป็นโค้งขวากว้างๆ จู่ๆ มาเอดะ #5 ที่อยู่อันดับ 3 ก็เกิดแหกโค้งหลุดออกไปขอบทางด้านซ้าย รถลื่นไถลลงบ่อกรวด ทำให้สองนักแข่งไทยอยู่ในอันดับ 1 และ 2 ขับขี่แบบไร้ความกดดันทันที ซึ่งหากจบด้วยตำแหน่งดังกล่าว นักแข่งไทยจะได้ทั้งแชมป์สนาม และแชมป์ประจำปี
แต่การแข่งขันต้องขับเคี่ยวถึง 12 รอบสนาม แถม สนาม ซูซูก้า เซอร์กิต ทีมีความยาว 5.8 กิโลเมตร มีโค้งคดเคี้ยว และความสูง-ต่ำของแทร็กให้ได้สู้ตลอด ยิ่งหลายรอบสภาพยางก็ยิ่งเหลือน้อย ทำให้นักแข่งระวังตัวมาก และเน้นปลอดภัยไว้ก่อน เมื่อถึงรอบที่ 8 เฉลิมพล ผลไม้ #65 เข้าโค้ง S กว้างเกินไปโดน เอโนคิโตะ อิคึฮิโร่ #9 กับ นาโกเอะ เทมเป #73 แซงขึ้นไปทำให้ เฉลิมพล ผลไม้ #65 ตกมาอยู่อันดับ 4 นักแข่งไทยพยายามเร่งเครื่องแต่ก็ไม่สามารถสู้ความชำนาญของเจ้าถิ่นที่เข้าโค้งปิดไลน์ได้หมด ต้องเกาะกลุ่มไปเรื่อยๆ ขณะที่ เดชา ไกรศาสตร์ #2 ที่นำอยู่ในรอบสุดท้าย พลาดโดนนักแข่งเจ้าถิ่นแซงขึ้นไปคว้าแชมป์แบบฉิวเฉียด ส่งผลให้ เดชา ไกรศาสตร์ #2 จบการแข่งขันด้วยอันดับ 2 และ เฉลิมพล ผลไม้ #65 จบการแข่งขันด้วยอันดับ 4 สำหรับคะแนนสะสมประจำปีปรากฎว่า การคว้าแชมป์ของ เอโนคิโตะ อิคึฮิโร่ #9 ส่งผลให้มีคะแนนสะสมเพิ่มขึ้นอีก 28 คะแนน รวมกับของเดิมมี 55 คะแนนกลายเป็น 83 คะแนน ส่วน เฉลิมพล ผลไม้ #65 ของไทยจบด้วนอันดับ 4 ได้เพิ่มอีก 21 คะแนน ของเดิมมีอยู่ 61 คะแนน รวมกันกลายเป็น 82 คะแนน พลาดตำแหน่งแชมป์ออลเจแปนไปเพียงแค่คะแนนเดียวเท่านั้น ส่วน เดชา ไกรศาสตร์ มีคะแนนสะสมรวมเป็น 63 คะแนน
หลังแข่งเสร็จ เดชา ไกรศาสตร์ #2 เผยว่า “แม้ตนจะได้รองแชมป์สนาม แต่ก็ไม่ได้ดีใจนักเพราะอยากให้ เฉลิมพล จบด้วยอันดับที่ดีกว่านี้อีกหนึ่งอันดับ ก็จะทำให้ได้คะแนนรวมสูงสุดคว้าตำแหน่งออลเจแปนได้ด้วย อย่างไรก็ตามตนก็พยายามจะป้องกัน เอโนคิโตะ อิคึฮิโร่ #9 ไว้หลายรอบแล้ว แต่รอบสุดท้ายป้องกันไม่อยู่จริงๆ จึงต้องพ่ายแพ้ไปซึ่งตนต้องขอโทษทุกคนด้วย ที่แม้จะพยายามแล้วแต่ยังไม่ดีพอ"
ขณะเดียวกันทางด้าน เฉลิมพล ผลไม้ #65 กล่าวหลังการแข่งขันว่า “ตนยอมรับว่าเสียดายมาก เพราะตั้งใจมากที่จะขับแบบละเอียดทุกจุดจนไม่มีข้อผิดพลาด กระทั่งเหลือเวลาการแข่งขันน้อย แม้จะทำความเร็วได้ดีขึ้นเลื่อยๆ แต่ก็ไม่ทันจึงต้องพ่ายไปอย่างน่าเสียดาย”
หลังการแข่งขันสิ้นสุดลง นายธีระพงษ์ โอภาสกรกุล ผู้อำนวยการทีม กล่าวว่า “แผนการแข่งขันที่วางไว้นักแข่งทั้งสองคนวางแผนไว้รัดกุมมาก และถือได้ว่าดีกว่าที่วางแผนไว้ เมื่อทั้งสองคนสามารถขึ้นไปนำในอันดับ 1 และ 2 ได้ แถมนักแข่งที่เต็งแชมป์อย่าง มาเอดะ #5 เกิดอุบัติเหตุหลุดโค้งต้องออกจากการแข่งขันไป แต่ก็ยังมีนักแข่งเจ้าถิ่นคนอื่นๆ ที่แรงไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามนักแข่งทั้งสองคนทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว ต้องขอขอบคุณคนไทยที่ส่งแรงใจเชียร์ ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่งทีม มาโดยตลอด และผู้สนับสนุนทุกท่านที่ช่วยกันสนับสนุนจนทีมของคนไทยสามารถร่วมแข่งขันในรายการนี้ โดยมีคะแนนทีมจบสูงสุดที่ 90 คะแนน ซึ่งแม้นักแข่งจะไม่ได้แชมป์ แต่การที่ทีมได้คะแนนรวมสูงสุด สามารถบอกถึงความสำเร็จของทีมไทย ที่มีมาตรฐานระดับสูงสุดของการแข่งขันรายการนี้ทีเดียว”