สรยท. จัดสัมมนาชี้เทรนด์ตลาดรถไฟฟ้าไทย-โลก รัฐ-เอกชน-ผู้บริโภค ผสานพลังปลดล็อก ผลักดัน EV สู่รถยนต์แห่งอนาคต

Last updated: 2 ต.ค. 2567  |  412 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สรยท. จัดสัมมนาชี้เทรนด์ตลาดรถไฟฟ้าไทย-โลก รัฐ-เอกชน-ผู้บริโภค ผสานพลังปลดล็อก ผลักดัน EV สู่รถยนต์แห่งอนาคต

     สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จัดงานเสวนาทางวิชาการ เปิดมุมมองเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า จากผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ในหัวข้อ “โลกาภิวัตน์สู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า สังคมไทยพร้อมเปลี่ยนแปลงหรือยัง” โดยมีนายวชิระ เรืองมาลัย นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ การสัมมนาในครั้งนี้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความกระจ่างชี้เทรนด์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ประกอบด้วย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้เชี่ยวชาญ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด, นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และนายพงศ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับเกียรติจากนายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่่ 37 มากล่าวปาฐกถาพิเศษกล่าวเปิดการสัมมนาในครั้งนี้อีกด้วย



นายกฯ สรยท. ชี้รถไฟฟ้าเริ่มมีบทบาทต่ออุตฯ ยานยนต์โลก

     นายวชิระ เรืองมาลัย นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) กล่าวว่า สมาคมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้ แก่ผู้ใช้รถยนต์และยานพาหนะ ในสังคมยานยนต์ ในยุคที่กำลังมุ่งหน้า สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในด้านการใช้พลังงานสะอาด โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ประเทศไทยในฐานการผลิตยานยนต์สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า กำลังถูกพัฒนาเข้ามา ใช้งานแทนที่พลังงานน้ำมัน และเครื่องยนต์สันดาปภายใน กำลังจะถูกแทนที่ ด้วยเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า ในอนาคตอันใกล้นี้

     ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของโลกยานยนต์ ที่มีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไป มีการศึกษาข้อมูลของรถยนต์ไฟฟ้า มากขึ้นกว่าเดิมนั้น เป็นหน้าที่ทางตรง ของสื่อสารมวลชนด้านยานยนต์ ที่จะเผยแผ่ความรู้ความเข้าใจ ข้อเท็จจริงทางด้านต่างๆ สู่สังคมไทยและผู้บริโภค

     “ในวันนี้เป็นโอกาสอันดี สมาคมฯได้มีแนวคิดจัดงานเสวนาทางวิชาการให้ความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ในหัวข้อ “โลกาภิวัตน์สู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า สังคมไทยพร้อมเปลี่ยนแปลงหรือยัง” โดยได้รับเกียรติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มาเป็นผู้บรรยายให้ความกระจ่าง แก่สังคม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัว นำไปใช้งานยานยนต์ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ในโอกาสข้างหน้าต่อไป” นายวชิระ กล่าว

 

รัฐควรปลดล็อก เตรียมรับมือสังคมรถไฟฟ้า

     นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่่ 37 กล่าวเปิดการสัมมนาว่า เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ประชาชนผู้ใช้รถยนต์, ผู้ผลิตรถยนต์-ผู้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า และภาครัฐ ซึ่งภาคผู้ใช้ประชาชนและผู้ผลิตรถยนต์และติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ามีความพร้อมที่อยากจะใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมตามแผนธุรกิจขององค์กร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือภาครัฐที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งขณะยังรวมกันไม่ได้ยังมีความคิดเห็นที่ต่างกัน

     “ถ้าจะมีการผลิตไฟฟ้าอย่างการผลิตไฟฟ้าในชุมชน คือการทำให้ชุมชนมีการผลิตไฟฟ้าใช้ชุมชน ซึ่งกรณีนี้จะเอื้ออำนวยทำให้สังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมไฟฟ้าแล้วทำให้การนำเครื่องชาร์จไฟฟ้าไปตั้งในที่ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องพึ่งระบบไฟฟ้าส่วนกลาง เพราะถ้าทุกคนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมดไฟฟ้าในประเทศมีไม่เพียงพอ เราต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าเองในชุมชน ซึ่งไฟฟ้านั้นอาจจะมาจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานน้ำ นอกจากนี้ยังข้อกฎหมายที่ไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและเหลือใช้สามารถจำหน่ายในชุมชนได้ ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจที่จะเข้ามาสู่วงการยานยนต์ไฟฟ้าต้องมีเสียงสะท้อนกลับไปบ้างกับภาครัฐให้มีความรู้สึกเห็นด้วยกับพวกเราและเอาหน่วยงานต่างๆ มาพูดคุยกันและเปลี่ยนสังคมเราเป็นสังคมไฟฟ้าได้” นายขวัญชัย กล่าว



เกาะเทรนด์รถฟฟ้า ชี้แนวโน้มผู้บริโภคตอบรับดี

     ทางด้านนายกฤษฎา อุตตโมทย์  นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมฯมีจุประสงค์หลักตั้งเป้าหมายเดียว คือ ลดมลพิษให้ได้มากที่สุด ทำให้การทำงานของสมาคมฯ ไม่ได้มองเพียงแค่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเดียว สมาคมยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดมลภาวะกับภาคขนส่งอย่างไร รวมทั้งยังตั้งเป้าหมายต่อไปที่จะลดฝุ่นละออง PM2.5 อีกด้วย ทำให้สมาคมฯ มีส่วนร่วมในการลดมลภาวะทุกรูปแบบโดยให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและการให้ข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกทั้งสิ้น 233 ราย แบ่งเป็นสมาชิกองค์กรจำนวน 152 ราย และสมาชิกบุคคลทั่วไปจำนวน 81 ราย การทำงานในช่วงที่ผ่านมามีหลายบริษัทแสดงความจำนงขอเข้ามาร่วมประชุมกับสมาคมฯ มากขึ้น เพราะทุกฝ่ายเริ่มกังวลว่าการมาของรถยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างไร 

     “การเข้ามาร่วมประชุมกับสมาคมฯ ก็เพื่อมาสอบถามข้อมูลว่า สิ่งที่เขาคิดตรงกับแนวทางที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ยกตัวอย่าง ความปลอดภัยของไซเบอร์เรื่องการโอนถ่ายข้อมูลสถานีชาร์จไฟหรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาของขสมก.ที่จะจัดจ้างรถเมล์ไฟฟ้า 100 คัน เข้ามา นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงเรื่องการรถเมล์ไฟฟ้าประกอบในประเทศโดยใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศเกินกว่า 40% จะเป็นไปได้ไหมก็มาคุยกับเรา อย่างธนาคารไทยพาณิชย์หรือธนาคารกสิกรไทยก็มาคุยกับเราเรื่องการปล่อยสินเชื่อถ้าลูกค้ามีการใช้พลังงานทางเลือกหรือเปลี่ยนจากการขนส่งมาเป็นการใช้รถไฟฟ้าก็จะพิจารณาคิดดอกเบี้ยพิเศษให้ รวมถึงองค์กรนานาชาติต่างๆอย่างสถานทูตนอร์เวย์หรือสิงคโปร์ที่จะหานักลงทุนแบบ Joint Venture หรือผู้ร่วมทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อีกกลุ่ม คือ ซัพพลายเออร์ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเทียร์ 1 หรือ เทียร์ 2 ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หรือเครื่องยนต์ต่างๆ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มคิดแล้วว่าในการเปลี่ยนแปลงประมาณ 5 ปีข้างหน้าจะส่งผลต่อการลงทุนธุรกิจของเขาอย่างไรบ้าง ตรงนี้คิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากจึงมีการระดมความคิดเห็นเพื่อให้เดินไปในทางเดียวกันได้” นายกฤษฎา กล่าว

     ปัจจุบัน ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ที่รวมไปถึงปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า แนวโน้มของโลกถ้าดูจากอัตราการเติบโตกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด มีอัตราการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของ BEV ในปี 2019 มีถึง 2.5% ของรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งในยุโรปมีอัตราการเติบโตถึง 93% จีน 17% ประเทศอื่นๆ 23% เหตุที่ยุโรปเติบโตเพราะมีการตั้งเป้าหมายลด Co2 โดยวิธีการลดจึงต้องตั้งเป้ามีรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปนับว่าเรายังเพิ่งตั้งไข่ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

     ในปีนี้ตลาดยายนต์โลกมีการตั้งเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงปี 2030 ที่คาดว่าจะมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 2.5 ล้านคัน และจะขยายเป็น 11.2 ล้านคันในปี 2025 และจะเป็นจำนวน 31 ล้านคันในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตแบบนี้คาดว่าจะมีสีดส่วน 32% จากยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก จากเป้าหมายของตลาดรถยนต์โลกข้างต้นนี้มีนัยสำคัญเพราะประเทศไทยมองแบบนี้ไม่ต่างกันที่มีนโยบายตั้งเป้าให้มีถึง 30% ของการขาย xEV ภายในปี 2030 ก็มีการคาดการณ์ว่าตลาดจีนจะเป็นผู้นำตลาด xEV ที่มีสัดส่วนถึง 49% ของ xEV ทั้งโลก ส่วนยุโรปมีประมาณ 27% มองว่าประเทศจีนเป็นประเทศหลักที่จะเป็นผู้นำ xEV

     สำหรับประเทศไทยได้มีการเติบโตขึ้นมาในปี 2012 ที่มีการผลิตขายในประเทศและส่งออกถึง 2.4 ล้านคัน การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีจำนวนครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป อาเซียน เอเชีย ตะวันออกกลาง และ โอเชียเนีย คำถามว่าประเทศพวกนี้พร้อมไปแนวทาง xEV แล้วหรือไม่ ตัวนี้จะเป็นนัยยะสำคัญกับเราเพราะจะเดินต่ออย่างไร เพื่อรักษาฐานการผลิตของเราได้ต่อหรือไม่ ซึ่งคิดว่าภาครัฐก็มองไม่ต่างกัน

     “เรามีรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดสะสมมากว่า 160,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1,800 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 2,500 คัน จะเห็นว่าเทรนด์เริ่มเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งในปี 2019 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดมียอดจดทะเบียนสะสมกว่า 3,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้า 2,500 คัน โดยตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีความคึกคักมากอย่าง MG ZS EV ที่มีราคาประมาณกว่า 1 ล้านบาท ที่มียอดจดทะเบียนจากปี 2561 ประมาณ 300 คัน เพิ่มขึ้นมากว่า 1,500 คันในปี 2562 และในปี 2563 นี้ 8 เดือนแรกมียอดการจดทะเบียนถึง 1,572 คัน หรือมียอดจำหน่ายเทียบเท่าทั้งปีของปี 2562 ที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่มรถยนต์แมสมาร์เก็ตอาจจะมีผู้เล่นไม่มากซึ่งหลักๆมี เอ็มจี นิสสัน และต่อไปจะมีเกรท วอลล์ มอเตอร์ ก็จะเป็นเทรนด์เติบโตก้าวกระโดดขึ้นมากโดยเฉพาะราคาจำหน่ายไม่ถึง 1 ล้านบาท แสดงว่าดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ถือว่าไม่ได้แย่ แต่จะเติบโตต่อได้หรือไม่ต้องผ่านเรื่องของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพราะต้องใช้เวลาการชาร์จค่อนข้างนาน ซึ่ง 2 อย่างนี้ต้องมาด้วยกันระหว่างตัวรถยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างงพื้นฐานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามารองรับ”  นายกฤษฎา กล่าวสรุป



EA Annywhere พร้อมเดินหน้าขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า

     ขณะที่นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้เชี่ยวชาญ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ่า กล่าวว่า ในส่วนของผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า และปลั๊กอินไฮบริด ภายใต้แบรนด์ EA Annywhere ตลอด 3 ปีที่เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้า ทั้งระบบ AC (กระแสไฟฟ้าสลับ) และ DC (กระแสไฟฟ้าตรง) จนถึงปัจจุบัน มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 405 แห่ง 1,611 หัวจ่าย

     ขณะที่ตัวเลขการใช้บริการของคนใช้รถทั้งปลั๊กอินไฮบริด มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และโตกว่า 100% ทุกปี  โดยเฉพาะการให้บริการของ EA Annywhere ใช้ระบบสมาชิกผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งในแรกของการเปิดให้บริการในปี 2561 มีสมาชิกประมาณ 500 - 600 ราย แต่ในปัจจุบัน มีสมาชิกแล้วกว่า 8,000 ราย ซึ่งในอนาคตทาง EA Annywhere มีแผนจะขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแหล่งชุมชน และแหล่งช้อปปี้งต่างๆ ซึ่งต้องดูที่พฤติกรรมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือ ปลั๊กอินไฮบริด ของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนด ส่วนอัตราค่าบริการที่ใช้ในปัจจุบันอยู่ที่ละ 6.50 บาท/1Kv แต่หากเป็นสถานที่ของเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า จะมีค่าบริการที่เพิ่มขึ้น หากใช้บริการเกินเวลาที่กำหนด



ชี้ 3 ประเด็นจับตาแจ้งเกิดรถไฟฟ้าไทย

     นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ใน 3 ประเด็นหลัก ทั้งผู้บริโภค, ผู้ผลิตรถยวนต์-ผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า และภาครัฐ คือ เรื่องความกังวลเกี่ยวกับทิศทางภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ยังไม่ชัดเจน ภาครัฐควรมีแผนว่า จะส่งเสริมรถพลังงานทางเลือก อย่างไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริด ถึงเมื่อไหร่ และใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะก้าวเข้าสู่ยุคของการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

     ประเด็นต่อมาคือ ความชัดเจนของแผนการสนับสนุนการผลิตรถพลังงานไฟฟ้า ต้องครอบคลุมทั้งภาคการผลิต เทคโนโลยี ระบบขับเคลื่อน แบตเตอรี่ ควรกำหนดถึงการใช้เทคโนโลยี ที่ต้องใช้ควรผลิตในประเทศ ซึ่งจุดยืนของสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถพลังงานไฟฟ้าทุกรูปที่มีการพัฒนาขึ้นในประเทศ เพื่อให้เป็นผลประโยชน์ ของไทยเราเอง

     ส่วนในเรื่องความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคนั้น สภาอุตฯมองว่า ปัจจุบันในหลายประเทศ ดีมานด์ที่เกิดขึ้นเป็นดีมานเทียม เพราะมีการอุดหนุนจากภาครัฐ แต่เรื่องความต้องการรถพลังงานไฟฟ้า คิดว่าไม่น่ากังวล เพราะผู้บริโภคในปัจจุบัน มองที่ความคุ้มค่าของตัวผลิตภัณฑ์ มากกว่าที่จะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

     “การขยายตัวของตลาดรถพลังงานไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการที่สามารถพัฒนา และผลิตรถ EV ให้ใช้งานได้เท่าๆ กับรถยนต์ และมีความคุ้มค่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่สร้างความต้องการ และถึงเวลานั้น บริษัทฯผู้ผลิตก็จะผลิตรถ EV มาแข่งขันกันเพื่อตอนสนองความต้องการ” นายองอาจ กล่าว

     ประเด็นสุดท้ายคือ ต้องมีแผนที่ชัดเจนในการรักษาสถานภาพของฐานการผลิตรถยนต์ไทย เพราะหากจะพูดกันจริงๆ ไทยเป็นฐานการประกอบรถยนต์ และยังไม่มีเทคโนโลยีรถยนต์ของคัวเอง ซึ่งหากก้าวเข้าสู่ ยุคของอุตสาหกรรมรถ EV และสามารใช้เทคโนโลยีที่ไทยสามรถผลิตเองได้ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภาคการผลิตของไทยอีกด้วย

 

รถไฟฟ้าเหมาะที่สุดกับรถแห่งอนาคต

     นายพงศ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับเอ็มจีเรื่องโลกาภิวัตน์ได้มองเห็นมานานแล้ว ซึ่งทิศทางยายนต์โลกจึงถูกกำหนดไว้ 4 ทิศทางด้วยกัน คือ การเชื่อมต่อ (Connectivity), เทคโลโลยียานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous), พลังงานทางเลือกใหม่ (New Energy) และโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งล้วนเป็นทิศทางตลาดยานยนต์โลก

     หลังจากแซคมอเตอร์ได้เป็นเจ้าแบรนด์เอ็มจีได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องและได้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ลงสู่ตลาดทั้งใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน จนปัจจุได้ก้าวสู่การแนะนำรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ๆ สู่ตลาดมากขึ้น ตามนโยบายรัฐที่เปิดกว้างมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสของเอ็มจี โดยรถยนต์รุ่นแรกตัว คือ เอ็มจี ZS EV นับเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรก ที่มียอดขายตั้งแต่เปิดตัวมากว่า 2,500 คัน โดยครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย 90% และในเดือนตุลาคม 2563 เอ็มจีได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่มาเสริมตลาด คือ เอ็มจี HS PHEV และในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2020 ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% อีกรุ่น คือ เอ็มจี EP ซึ่งคาดว่าจะมาสร้างสีสันให้กับตลาดรถไฟฟ้าได้อย่างมาก เหนือสิ่งอื่นใดจะเป็นการเข้ามาตอกย้ำผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้กับเอ็มจีได้อีกด้วย ด้วยแนวโน้มตลาดรถยนต์ของโลกรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีสูง แต่มีจุดเด่นที่สามารถซ่อมบำรุงดูแลรักษาง่าย ใช้งานง่ายรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นรถยนต์แห่งอนาคตของโลก

     “การเปิดตัว เอ็มจี EP นอกจากจะมาสร้างสีสันให้กับตลาดรถไฟฟ้าแล้ว ด้วยราคาจะเป็นการเปิดทางให้ลูกค้าหันมาใช้รถไฟฟ้าง่ายขึ้น นอกจากนี่รถไฟฟ้า แม้จะเป็นรถที่ใช้เทคโนโลยีสูง แต่เป็นรถที่ดูแลรักษา ใช้งานง่าย และซ่อมบำรุงง่าย จึงมีความสมที่จะเป็นรถยนต์แห่งอนาคต มีเพียงสถานีชาร์จไฟฟ้าเท่านั้นที่ยังไม่เพียงพอทุกพื้นที่การใช้งานของผู้บริโภค แต่สำหรับเอ็มจีในปี 2564 จะเปิดโชว์รูมเพิ่มเป็น 150 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าได้ทุกสาขา และมีสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ดีลเลอร์ 100 แห่ง และขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าอีก 500 แห่งในปี 2564 อีกด้วย” นายพงศ์ศักดิ์ กล่าวในที่สุด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้