Last updated: 2 ต.ค. 2567 | 930 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังจากที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมาร่วม 4 ปี ใน MotoGP ของแฟคทอรี่ Yamaha และในฤดูกาล 2019 นั้น พวกเขาชนะได้เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ว่ากันว่าในต้นปี 2019 ที่ผ่านมา Yamaha ได้จัดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงผู้นำโปรเจ็คเกี่ยวกับ MotoGP คนใหม่เข้ามานั้นก็คือ Takahiro Sumi ที่รับตำแหน่งเมื่อมกราคมปีที่ผ่านมา ถึงเวลานี้กำลังจะครบหนึ่งปี นอกจาก 2 ชัยชนะที่ทำได้ ว่ากันว่าพวกเขาเริ่มขยับเข้ามาใกล้ Honda และ Ducati มากกว่าเดิมแล้ว ด้วยเครื่องยนต์ที่ดีขึ้น ระบบอิเล็คทรอนิคส์ที่พัฒนาขึ้นจากเดิม และแชสซีส์ที่ค่อยลดปัญหาต่างๆ ลงจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซ็ทอัพที่โฟกัสไปที่เอื้อต่อการขี่ของ Maverick Vinales มากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนนักแข่งดาวรุ่งที่ดึงเข้ามาร่วมงานด้วยการเปิดโอกาสให้ได้รับช่วง “รถแข่ง” ต่อจาก Vinales และ Valentino Rossi เพื่อใช้โอกาสในการนำรถ “ตกรุ่น” ของรถแข่งโรงงาน ไปต่อยอดพัฒนาเพิ่มเติมนั่นเอง
ย้อนมาที่ Takahiro Sumi ที่มีโอกาสมาร่วมโปรเจ็ค Yamaha MotoGP ในช่วงปลายปี 2003 ก่อนที่จะย้ายไปดูแลการออกแบบในส่วนของการพัฒนารถโปรดักชั่น ซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญทางด้าน chassis design จนในปี 2010 จึงได้ถูกดึงกลับมาร่วมงานในโปรเจ็ค MotoGP อีกครั้ง ก่อนจะได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าโปรเจ็คคนล่าสุด ต่อจากหัวคนเก่าที่สามารถสร้างความสำเร็จได้มากมายอย่าง Kouchi Tsuji จนกระทั่งผลัดเปลี่ยนสู่ยุคซบเซาในช่วง 4 ปีที่ผ่าน ทว่าก็เป็นวิถีของ Yamaha ที่จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามปกติอยู่แล้ว
สำหรับการก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้าโปรเจ็คในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาของ Takahiro Sumi เขาได้บอกถึงแนวทางในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า “หลักๆ เลย สิ่งที่เราโฟกัสก็คือการปรับเปลี่ยนรถแข่งในส่วนของการหาค่าการเซ็ทติ้งพื้นฐานที่ดี ย้อนไปในปี 2017 ที่ Maverick ย้ายมาร่วมงานกับเรา เขาเป็นนักแข่งที่เร็วที่สุดในแทบทุกสนาม หลังจากนั้นเขาก็เริ่มดรอปลงไป แน่นอนนั่นคือสิ่งที่เราจะต้องพยายามช่วยให้เขากลับมาเร็วที่สุดอีกครั้ง แต่บ่อยครั้งเราก็พบกับงานที่ยุ่งยากสับสนกับข้อมูลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถแข่ง จนกระทั่งเข้าสู่ Barcelona test หลังการแข่งขัน CatalanGP ในเดือนมิถุนายน เราก็สามารถพบข้อมูลบางอย่างที่นำสู่การทำ good base setting ซึ่งช่วยให้เขากลับมามีฟิลลิ่งที่ดีกับรถแข่งอีกครั้ง และเขาก็สามารถกลับมาทำความเร็วได้ดีอีกครั้ง แต่ว่าความสม่ำเสมอการยืนระยะของข้อมูลนั้น ไม่นิ่งพอ บางทีถ้าเราทำได้ดีในช่วงเช้า ซึ่งเขาขี่ได้เร็วมาก แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงบ่ายบางครั้งก็เกิดความแตกต่างออกไป กล่าวคือ ถ้ารถแข่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เขาก็จะสามารถทำความเร็วได้ดีเช่นเดิม ดังนั้นเราจึงพยายามพัฒนาให้รถแข่งสามารถหาค่าการปรับเซ็ทที่ดีให้ได้ในทุกสถานการณ์ทุกสภาวะแวดล้อม ซึ่งถึงเวลานี้ผมบอกได้ว่าเราสามารถรักษาสถานการณ์ได้นิ่งมากขึ้น ในการทำงานของผม เกี่ยวกับการหาค่า base setting นั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงส่วนของแชสซีส์ แต่เราพยายามโฟกัสไปที่ระบบอิเล็คทรอนิคส์ควบคู่กันไปด้วย เราสามารถพัฒนาอัตราเร่งของรถ สามารถจัดการเรื่อง engine brake ได้ดีขึ้น เพราะว่าสไตล์ของ Maverick นั้น อยู่ที่จังหวะการ braking และการไหลเข้าสู่โค้ง ที่เป็นจุดแข็งของเขา และนั่นคือสิ่งที่ผมพยายามโฟกัสไปเพื่อสนับสนุนเขาให้กลับมาเร็วที่สุดอีกครั้ง”
ก็คงไม่แปลกที่หลายๆ ครั้งในการทดสอบหรือแม้แต่การซ้อมและควอลิฟาย เราจะพบว่าเวลาเบสต์แล็บของ Maverick Vinales มักจะทำได้ดีที่สุด ก็คงจะเป็นเพราะแนวทางในการทำงานของหัวหน้าโปรเจ็คคนใหม่ที่มุ่งเน้นเพื่อสนับสนุน Maverick นั่นเอง
ระหว่างปี 2010-2014 Yamaha สามารถคว้าชัยรวมได้ 34 ครั้ง ก่อนที่ในช่วง 2015-2019 นั้น จะลดลงเหลือ 24 ครั้ง นั่นคงจะเป็นการบอกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากขึ้นของ Yamaha แม้ว่าปัญหาส่วนหนึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนผู้ผลิตยางใหม่ในการแข่งขัน และการจำกัดรถบบอิเล็คทรอนิคส์ แต่ประเด็นสำคัญก็ยังคงเป็นผลมาจากรถแข่งโดยตรงเช่นกัน ดังนั้นในช่วงหนึ่งปีของหัวหน้าโครงการคนใหม่ จึงคาดว่าช่องห่างที่เคยถูกคู่แข่งทิ้งห่างในช่วง 4 ปีหลังมานี้ค่อยลดลง จากที่ชนะได้เพียงครั้งเดียวในปี 2018 กับการขึ้นโพเดี้ยม 13 ครั้ง ก็สามารถกระเตื้องขึ้นเป็น ชนะได้ 2 ครั้งกับโพเดี้ยม 16 ครั้งในปี 2019 ที่ผ่านมา
ซึ่ง Lin Jarvis ในฐานะ Managing Director Yamaha Motor Racing หรือผู้อำนวยการของ Yamaha Motor Racing ได้กล่าวถึงคีย์ในการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางทีดีขึ้นว่า “หลังจากตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราก็ตัดสินใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดการการทำงานภายของส่วนต่าง โดยเฉพาะโครงสร้างการทำงานภายใน เพื่อทีจะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ ซึ่งผมเชื่อว่าคีย์สำคัญนั้นก็คือการที่ทางญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงหัวหน้าโปรเจ็คใหม่ เพื่อลองวิธีการทำงานและวิธีการคิดใหม่ๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่แปลกอะไร เพราะแม้แต่คู่แข่งเราเองยังปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการเลย เช่นเดียวกับเราที่ทุกคนต่างยังคงพยายามที่จะทำงานอย่างหนักตลอดเวลาเพื่อจะพัฒนาทุกอย่างให้ดีขึ้น เพียงแต่เรายังคงวนเวียนในกลุ่มคนเดิม ในรูปแบบเดิม ทุกคนต่างพยายามทำหน้าที่ตัวเองอย่างหนัก จนลืมที่จะมองหรือเปิดวิสัยทัศน์ใหม่ นั่นแหละที่ผมบอกหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลง คือการได้หัวหน้าโปรเจ็คคนใหม่ที่มาพร้อมกับวิธีคิดและมุมมองใหม่ๆ ที่สำคัญส่วนตัวผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนั้นได้นำกระบวนการพัฒนาใหม่ให้เกิดขึ้น เราไม่ได้โฟกัสอยู่เพียงแค่การเน้นพัฒนารถแข่งเท่านั้น แต่เรามีการปรับการทำงาน การประสานงาน การสื่อสาร ทุกๆ อย่างภายในใหม่หมด ไม่ใช่เพียงแค่ในทีม แต่กับ Yamaha Motor ด้วยเช่นกันที่เราสามารถปรับมุมมอง ทิศนคติในการทำงานร่วมกัน จนสามารถฉีกกรอบเดิมที่มีลงไปได้อีกด้วย นี่คือสิ่งจำเป็นสำหรับปัจจุบันที่ เราเองมีขีดจำกัดด้านงบประมาณหรือแม้แต่บุคลากรบทางอย่าง ด้วยเหตุนี้ทุกส่วนประกอบจึงจำเป็นต้องใช้จากภายในและภายนอก เรารู้จักที่จะรับฟังและเรียนรู้ทุกอย่างรอบตัวเพื่อที่จะปรับและพัฒนาให้ดีขึ้น ผมเชื่อว่านี่แหละคือคีย์สำคัญในการที่จะนำเราก้าวออกจากช่วงเวลาที่มืดมน ผมคิดว่าเรากำลังจะก้าวออกจากอุโมงค์ได้ในไม่ช้า ถึงเวลานี้ผมคิดว่าเรากำลังจะปรับพื้นฐานของการทำงานได้เกือบจะร้อยเปอร์เซ้นต์แล้ว จากนี้ไม่เพียงแต่การแก้ไขปัญหาหรือแก้จุดอ่อนของรถแข่งเท่านั้นที่เรากำลังจะทำ แต่จากทุกข้อมูลทุกปัญหาหรือแม้แต่ทุกเรื่องที่นักแข่งวิจารณ์รถแข่งที่เราเคยเจอนั้น เรากำลังทำงานกันเพื่อจะพัฒนารถแข่งที่ดีขิ่งขึ้นกว่าเดิม แน่นอนว่ายังไม่ไปได้ไกลเช่นที่หวังมากนักแต่เวลานี้ผมเชื่อว่าทุกอย่างกำลังไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้วล่ะ”
อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ก็เป็นได้สำหรับ Yamaha Factory team ที่ในช่วงปีผ่านมานี้นอกจากการเปลี่ยนหัวหน้าโปรเจ็ค MotoGP แล้ว ภายในทีมยังได้เปลี่ยนมือแมคคานิคส์ในระดับหัวหน้าใหม่ ไม่ว่า Wilco Zeelenberg, Ramon Foncada รวมถึงแมคคานิคส์ในส่วนของ Valentino Rossi เอง ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพียงแต่การปล่อยสองแมคคานิสค์สำคัญออกไปนั้น ก็เป็นผลดีด้วยเช่นกัน เพราะ Wilcoc และ Ramon นั้น ไปดูแลรถแข่งทีมทีมซัพพอร์ทใหม่อย่าง Sepang Racing Team ที่ได้รับการยกระดับให้ใช้รถแข่งตกปีแต่เป็น A-Spec นั่นหมายความว่า พวกเขามีส่วนในการทดลองหรือพิสูจน์ข้อมูลต่างๆ ให้กับทีมแฟคทอรี่ควบคู่ไปอีกทางด้วยนั่นเอง ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นที่การทดสอบแต่ละครั้งนั้น พวกเขามีโอกาสลองชิ้นส่วนพิเศษคล้ายๆ กับทีมแฟคทอรี่ด้วยเช่นกัน...
ก็คงต้องติดตามลุ้นกันว่า นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญตามที่คาดหรือไม่ กับการที่ Yamaha Factory จะก้าวออกจากอุโมงค์ที่พวกเขาติดอยู่มาถึง 4 ปีได้สำเร็จเพียงใด!!!
20 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567